กำแพงร้องไห้ (Wailing wall) คืออะไร?

     บางทีท่านผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินชื่อกำแพงครวญครางหรือกำแพงร้องไห้ (Wailing wall) ที่อยู่ในดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองกันบ้างแล้ว แต่ทว่ากำแพงร้องไห้นี้อยู่ที่ใด? และเรื่องราวของมันเป็นอย่างไร? เราจะมาทำความรู้จักกันโดยสังเขปในที่นี้

     กำแพงร้องไห้ (Wailing wall) คือส่วนหนึ่งของกำแพงด้านตะวันตกของมัสยิดอัลอักซอ ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (สำคัญ) เป็นพิเศษสำหรับบรรดาศาสนาที่สืบสายมาจากท่านศาสดาอิบรอฮีม (อ.)

     ตามความเชื่อของชาวยิว กำแพงนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิหารโซโลมอน (The temple of Solomon) ซึ่งยังคงหลงเหลืออยู่หลังจากระยะเวลายาวนานหลายปี ชาวมุสลิมจะเรียกมันว่า “กำแพงบุร๊อก” (حائِط البُراق) ซึ่งเชื่อว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ในระหว่างการเดินทางสู่ฟากฟ้า (อิสรออ์-เม๊ยะอ์รอจ) ของตนนั้น ท่านได้ผูกพาหนะของท่านไว้กับกำแพงนี้ (บุร็อกเป็นชื่อของสัตว์พาหนะแห่งสวรรค์ของท่านศาสดา)

กำแพงร้องไห้ (Wailing wall) คืออะไร?

เนื้อหาโดยสรุปของประวัติศาสตร์

     เนื่องจากชาวยิวถือว่ากำแพงนี้เป็นส่วนหนึ่งของซาก “วิหารโซโลมอน” (The temple of Solomon) พวกเขาจึงพยายามหาทางที่จะครอบครองสิ่งนี้ นับจากศตวรรษที่ 16 โดยประมาณที่มีพยายามต่างๆ ที่จะครอบครองมันและความพยายามสูงสุดอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 19 โดยที่ในเดือนสิงหาคม 1929 ชาวยิวได้เกิดการประทะกันกับชาวมุสลิมในประเด็นเกี่ยวกับการครอบครองกำแพง ในระหว่างเหตุการณ์นี้ ซึ่งเป็นที่รูจักกันในนาม “การปฏิวัติอัลบุร๊อก” (ثورة البراق)  ทำให้จำนวนหนึ่งจากทั้งสองฝ่ายได้เสียชีวิต ในช่วงเวลานั้นอำนาจเหนือปาเลสไตน์อยู่ในมือของอังกฤษ และด้วยเหตุนี้เองอังกฤษจึงมีอำนาจกำหนดและตัดสินใจในเรื่องนี้ ผลก็คือว่ากำแพงอัลบุร๊อกยังคงอยู่ในมือของชาวมุสลิม แต่ชาวยิวสามารถใช้เพื่อการแสวงบุญในสถานที่แห่งนี้ได้ โดยมีเงื่อนไขว่าพวกเขาจะต้องไม่นำเครื่องบูชาเฉพาะของตนเข้าไปในนั้น

     หลายปีต่อมา หลังจากการยึดครองกรุงเยรูซาเล็มโดยกองทัพอิสราเอลในปี ค.ศ. 1967 บรรดาทหารได้ทำลายบ้านเรือนที่อยู่รอบๆ กำแพงและได้สร้างพื้นที่สำหรับการปฏิบัตืพิธีกรรมสักการะบูชาของชาวยิวขึ้น ตั้งแต่นั้นมา สำนักงานกำกับดูแลกำแพงอัลบุร๊อกก็ตกอยู่ในมือของอิสราเอล

กำแพงร้องไห้ (Wailing wall) คืออะไร?

ความเชื่อของชาวยิว

    ในตำราชาวยิวโบราณ ชื่อ "กำแพงด้านตะวันตกของพระวิหาร" ได้ถูกกล่าวไว้ แต่ก็มีข้อสงสัยว่ากำแพงที่ถูกกล่าวถึงนั้น เป็นกำแพงด้านตะวันตกอันเดียวกันกับในปัจจุบันหรือว่าเป็นกำแพงอื่นที่อยู่ในบริเวณวิหาร ในอดีตจะเรียกกำแพงที่มีอยู่ในปัจจุบันว่า “The Western Wall” อย่างไรก็ตามชื่อ “กำแพงร่ำไห้” (Wailing wall) ในภาษาอาหรับใช้คำว่า  “المبکئ” ซึ่ง หมายถึง “สถานที่แห่งการร้องไห้” แต่ปัจจุบันนี้ตามที่กล่าวไปแล้ว ชาวมุสลิมจะเรียกมันว่า “กำแพงอัลบุร๊อก” (حائِط البُراق)

     ซึ่งในวิกิพีเดีย ได้กล่าวว่า กำแพงร่ำไห้เป็นสถานที่เคารพภักดีพระเจ้าที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวยิว

กำแพงร้องไห้ (Wailing wall) คืออะไร?

กำแพงร้องไห้ ในปัจจุบัน

     ในปัจจุบัน สำนักงานกำกับดูแลกำแพงร้องไห้อยู่ในมือของมูลนิธิ “Kotel” (The Western Wall Heritage Foundation) ของอิสราเอล ซึ่งอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของกระทรวงการศาสนาของอิสราเอล สิ่งที่สมควรกล่าวถึงก็คือว่า ทุกคนไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือชาวยิวและผู้คนทั่วไป สามารถเข้าเยี่ยมชมได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดทั้งปี

     การปรากฏตัวเคียงข้างกำแพงร้องไห้ ในหมู่เจ้าหน้าที่ของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาประธานาธิบดีนั้น มีประวัติอันยาวนาน ตัวอย่างเช่น บารัก โอบามา ในช่วงของการรณรงค์หาเสียงการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2008 ได้เดินทางไปยังดินแดนที่ถูกยึดครองนี้และได้ไปปรากฏตัวเคียงข้างกำแพงร้องไห้

     ก่อนหน้าโอบามา จอร์จ ดับเบิ้ลยูบุช ก็ได้เดินทางไปยังดินแดนที่ถูกยึดครอง และไปยังสถานที่ของกำแพงร้องไห้ด้วยเช่นกัน เพื่อเยี่ยมชมและทำการคารวะ พร้อมการอธิษฐานเพื่อขอให้สัมฤทธิ์ผลความปรารถนาต่างๆ ของตน

     และล่าสุด โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ ก็ได้เดินทางพร้อมครอบครัวเข้าเยี่ยมชมและทำการอธิษฐานที่กำแพงแห่งนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา


แปลและเรียบเรียงโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม