การล่มสลายของซาอุดิอาระเบียและการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างใหญ่หลวงในตะวันออกกลาง

สถานการณ์ของซาอุดิอาระเบียในปัจจุบัน

    เดิมราชวงศ์อาลิสะอู๊ดมีลักษณะการปฏิบัติอย่างเปิดเผยชัดเจนคือ การไม่แสดงความอดทนต่อทั้งชีอะฮ์และผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งในความเป็นจริงอาจกล่าวได้ว่า ไม่แสดงความอดทนต่อผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมเพียงอย่างเดียวก็ได้ เพราะทั้งนักวิชาการศาสนาประจำราชสำนักและผู้ดำเนินตามแนวความคิดทางศาสนาแบบวะฮาบีสุดโต่ง ไม่ถือว่าชีอะฮ์เป็นมุสลิมอยู่แล้ว

    ในราชอาณาจักร ประชาชนซาอุดิอาระเบียทุกคนต้องเป็นมุสลิม ส่วนผู้ที่ไม่ใช่ประชาชนแต่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรสามารถปฏิบัติตามศาสนาของตนเองได้ แต่โดยส่วนตัวเท่านั้น

    นับตั้งแต่ ค.ศ. 2009 รัฐบาลซาอุดิอาระเบียสั่งห้ามก่อสร้างมัสยิดของชีอะฮ์และห้ามประชาชนที่เป็นชีอะฮ์รวมตัวกันในลักษณะการประท้วง กระนั้นการประท้วงโดยผิดกฎหมายของประชาชนที่เป็นชีอะฮ์กลับเพิ่มขึ้นอย่างน่าสังเกต ทั้งความถี่ของการประท้วงและจำนวนผู้เข้าร่วมประท้วง

    ในขณะที่รัฐได้ดำเนินการทั้งในทางลับและเปิดเผย เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของประชาชน ด้วยวิธีการเดียวกับที่บรรดาผู้นำเผด็จการอาหรับอื่นๆ ซึ่งถูกโค่นล้มไปก่อนหน้านี้เคยใช้

    อาจมีผู้กล่าวว่าประชากรซาอุดิอาระเบียที่เป็นชีอะฮ์มีเพียงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมดหรือประมาณ 4,500,000 คน คงไม่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมจนถึงขั้นมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ แต่อย่าลืมว่าประชากรส่วนใหญ่ของซาอุดิอาระเบียไม่ได้เป็นวะฮาบีทั้งหมด และต่างได้รับผลกระทบจากการปกครองของราชวงศ์อาลิสะอู๊ดไม่น้อยกว่าประชาชนที่เป็นชีอะฮ์

    ผลกระทบอย่างต่อเนื่องของการเคลื่อนไหวของประชากรที่เป็นชีอะฮ์จะค่อยๆ ปลุกประชาชนกลุ่มอื่น ให้เกิดความกล้าหาญที่จะลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิของตนเอง

    ใน ค.ศ. 2014 ซาอุดิอาระเบียตัดสินใจเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดต่ำลง เพื่อให้มีผลกระทบต่อทั้งรัสเซียและอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายสำคัญ ปฏิบัติการตีหัวตัวเองเพื่อหวังให้คนอื่นหัวแตกของซาอุดิอาระเบียกลับทำให้ผู้บริโภคน้ำมันทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปถูกหวยได้ใช้น้ำมันราคาถูก ในขณะที่รัสเซียและอิหร่านถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบ แต่ก็สามารถยืนหยัดอยู่ได้

    รัสเซียที่กำลังสนับสนุนทั้งอาวุธและงบประมาณให้กองกำลังฝ่ายแบ่งแยกประเทศยูเครน รัสเซียที่กำลังปฏิบัติการทางอากาศเพื่อจัดการกับกลุ่มกบฏหลากชื่อหลายสายพันธุ์ในซีเรีย พร้อมกับสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กองทัพซีเรียเพื่อจัดการกับกลุ่มกบฏทางภาคพื้นดินและในที่สุดทหารรัสเซียก็ร่วมเข้าปฏิบัติการภาคพื้นดินด้วย จนกระทั่งในปัจจุบันสามารถพิชิตกลุ่มกบฏเกือบทั้งหมดในซีเรียได้แล้ว เหลือเพียงส่วนน้อยที่สหรัฐอเมริกาซึ่งทำตัวเป็นนักเลงโตคุ้มครองอยู่ โดยสหรัฐฯ เองมีกองกำลังของตนเองเข้าไปตั้งฐานบัญชาการในดินแดนซีเรีย โดยไม่สนใจใยดีว่า นั่นเป็นดินแดนที่ถูกต้องชอบธรรมและรัฐบาลซีเรียมีอำนาจอธิปไตยอย่างเต็มที่ในดินแดนของตน

   ทั้งปฏิบัติการในยูเครนและและการปราบปรามไอซิสในซีเรียจนสิ้นซาก ทำให้วะลาดิเมียร์ ปูตินได้รับความนิยมอย่างสูงในบ้านเกิด

   ในขณะที่อิหร่านซึ่งเริ่มมีกิจกรรมทางการเมืองและการทหารในตะวันออกกลาง มาตั้งแต่หลังการปฏิวัติอิสลามใน ค.ศ. 1979 เพราะถูกบังคับให้ต้องต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวกับซัดดัม ฮุซเซนแห่งอิรักนานถึง 8 ปี ปัจจุบันพูดกันอย่างไม่ต้องอ้อมค้อม อิหร่านคือผู้สนับสนุนหลักของฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอน ฮามาสในปาเลสไตน์ และกลุ่มฮูซีหรืออันซอรุลลอฮ์ในเยเมน เพื่อต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาลนิยมตะวันตกที่มีซาอุดิอาระเบียเป็นผู้สนับสนุน

    และปัจจุบันซาอุดิอาระเบียได้ผันตัวเองมาเป็นคู่ต่อสู้กับกลุ่มฮูซี ด้วยการปฏิบัติการทิ้งระเบิดอย่างป่าเถื่อน จนมีประชาชนชาวเยเมนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตแล้วหลายหมื่นคน บ้านเมืองเสียหายพังพินาศ และซาอุดิอาระเบียกำลังบ่ายหน้าไปสู่ความพ่ายแพ้ในศึกเยเมนในเร็ววันนี้ ตามข่าวที่ผู้สนใจติดตามสถานการณ์โลกทราบกันดี

    อิหร่านที่เป็นพันธมิตรอย่างเหนียวแน่นกับรัฐบาลซีเรีย อิรักและรัสเซีย เพื่อต่อสู้กับกองกำลังติดอาวุธหัวรุนแรงที่ถูกสร้างขึ้นและให้การสนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกากับซาอุดิอาระเบียและพันธมิตรของทั้งสองประเทศ ทั้งในตะวันออกกลางและยุโรป

    ขณะนี้กลุ่มฮูซีเกือบจะยึดอำนาจทั้งในทางสงครามการต่อสู้และอำนาจทางการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จได้ ส่วนซีเรียกับอิรักผลเป็นอย่างไรก็คงเห็นกันอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องอธิบาย

    แต่สิ่งที่ต้องอธิบายคือ ซาอุดิอาระเบียและพันธมิตรจะจัดการกับอำนาจและอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลของอิหร่านฮิซบุลลอฮ์ในเลบานอน ฮูซีในในเยเมน รวมทั้งอิทธิพลโดยตรงของอิหร่านทั้งในซีเรียและอิรักอย่างไร

    เหตุการณ์มาถึงขั้นแตกหัก เมื่อซาอุดิอาระเบียประหารชีวิต เชคนิมร์ บากิร อัลนิมร์นักวิชาการศาสนาและนักเคลื่อนไหวชีอะฮ์ชาวซาอุดิอาระเบีย นำไปสู่การตัดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอิหร่านและซาอุดิอาระเบียในเวลาต่อมา และแหลกละเอียดยิ่งขึ้นเมื่อซาอุดิอาระเบียตัดสัมพันธ์ทางการทูตและบอยคอตกาตาร์ ด้วยข้อหาใกล้ชิดอิหร่านและสนับสนุกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งก็คือฮามาส เพราะซาอุดิอาระเบียประกาศให้ฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้ายไปเรียบร้อยแล้ว

     สถานการณ์ยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้น เมื่ออิหร่านสามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องนิวเคลียร์กับ 6 ชาติมหาอำนาจตะวันตก และพันธมิตรเก่าแก่ของซาอุดิอาระเบียคือสหรัฐอเมริกา กลับแสดงท่าทีว่าจะไม่ยอมทำตามข้อตกลงดังกล่าว และจะบอยคอตอิหร่านต่อประเทศเดียว

     ในสถานการณ์ความไม่มั่นคงทั้งทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของซาอุดิอาระเบีย การเปลี่ยนผ่านอำนาจในตะวันออกกลางจะทำให้เกิดคลื่นที่น่าตกตะลึงทางเศรษฐกิจ การเมืองและยุทธศาสตร์ไปทั่วตะวันออกกลางและเกือบทั่วโลก ราคาน้ำมันจะถีบตัวสูงขึ้นอีกคำรบหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางอย่างขนานใหญ่จะเกิดขึ้น

      อิหร่านจะสามารถสร้างเข็มขัดที่มองไม่เห็น ที่มีความแข็งแกร่ง ซึ่งจะพาดจากแนวชายแดนอิหร่าน-อัฟกานิสถาน ผ่านซีเรียและอิรักไปยังภาคใต้ของเลบานอน ขึ้นบีบรัดภูมิภาคตะวันออกกลาง

     เป็นเข็มขัดทางด้านแนวความคิดทางเศรษฐกิจ ศาสนาและการเมืองที่จะรัดรึงประเทศอาหรับในแถบอ่าวเปอร์เซียให้เกิดความตึงเครียดทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมและศาสนา

     ไม่ใช่คนทั่วไปเท่านั้นที่สามารถรับรู้ความแข็งแกร่งของ “เข็มขัด” ที่มองไม่เห็นนี้ สหรัฐอเมริกา อียูและประเทศอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซียก็รับรู้ความแข็งแกร่งนี้ดี จากบทเรียนสงคราม 8 ปี ระหว่างอิรักกับอิหร่าน ชัยชนะของฮิซบุลลอฮ์ในการขับไล่อิสราเอลออกจากภาคใต้ของเลบานอนและชัยชนะในสงคราม 33 วัน ความแข็งแกร่งของกลุ่มฮูซีแห่งเยเมนที่มีอิหร่านให้การสนับสนุน และล่าสุดการกำราบปราบปรามไอซิสทั้งในอิรักและซีเรียจนอยู่หมัด

    อาจมีคนไม่มากนักที่ทราบว่า ภาวะการส่งออกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในห้วงเวลาที่ผ่านมา ซาอุดิอาระเบียเพิ่มการส่งออกได้เพียงร้อยละ 8 ในขณะที่รัสเซียส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ในขณะที่ซาอุดิอาระเบียอาศัยรายได้จากการส่งออกน้ำมันถึงร้อยละ 80 ขณะที่รัสเซียอยู่ที่เพียงร้อยละ 50 เท่านั้น ข้อมูลโดยสรุปเพียงเท่านี้ก็พอจะรู้แล้วว่าในระยะยาวใครจะอยู่หรือใครจะไป

    ยิ่งกว่านั้นสหรัฐอเมริกายังเพิ่มการนำเข้าน้ำมันจากประเทศในแถบอเมริกาใต้และแคนาดามากขึ้น เพื่อความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาวของตน ในกรณีที่ซาอุดิอาระเบียมีปัญหาทางการเมืองจนกระทบถึงการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบ

    อาการแบบนี้เขาเรียกว่า ซาอุดิอาระเบียกำลังจะตายเดี่ยว

    ในขณะเดียวกันประเทศในสหภาพยุโรปมีทางเลือกน้อยกว่าสหรัฐอเมริกา นั่นคือ ไม่ว่าจะมีความขัดแย้งทางการเมืองกับรัสเซียอย่างไร สหภาพยุโรปก็ยังจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย ภาวะเช่นนี้ทำให้สหภาพยุโรปเสียเปรียบอย่างยิ่งต่อรัสเซียในกรณีวิกฤตการณ์ยูเครนและแหลมไครเมีย

    ยิ่งถ้าหากราคาน้ำมันดิบถีบตัวสูงขึ้น ก็ยิ่งเป็นผลดีต่อรัสเซียอย่างน้อย 3 ประการ นั่นคือ รายได้ของรัสเซียเพิ่มขึ้น สหภาพยุโรปต้องยุติการแซงก์ชั่นเศรษฐกิจรัสเซีย และยังสามารถคงการปฏิบัติการและอิทธิพลทางทหารของตนต่อไปได้ทั้งในยูเครนและซีเรีย และมีของแถมติดปลายนวมมาด้วยคือ เศรษฐกิจของรัสเซียจะฟื้นตัว

ปูตินคงดีดลูกคิดคำนวนมาเรียบร้อยแล้วว่า งานนี้รัสเซียมีแต่กำไรกับกำไร

    กษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของรัสเซียซึ่งเป็นไอดอลของปูติน อดีตผู้อำนวยการองค์การสืบราชการลับของรัสเซีย (KGB) อดีตทนายความและปัจจุบันคือผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของรัสเซีย คือซาร์ปีเตอร์มหาราช ได้วาดหวังไว้ว่า จะตั้งอาณานิคมโพ้นทะเลและท่าเรือในเขตน้ำอุ่นให้กับรัสเซียให้ได้

    ทั้งสองปณิธานของซาร์ปีเตอร์อร์มหาราช ปูตินกำลังจะทำสำเร็จในเวลาอันใกล้นี้ และผลของความสำเร็จดังกล่าว จะกระทบต่อโลกอิสลามน้อยกว่าผลกระทบต่อสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและที่มองข้ามไปไม่ได้ คือ อิสราเอล

    ความจริงผลกระทบของ “เข็มขัด” อันแข็งแกร่งที่อิหร่านสร้างขึ้นสำเร็จ บวกกับความไร้เสถียรภาพทั้งภายในและภายนอกของซาอุดิอาระเบียกำลังปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนแล้ว นั่นคือความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปของไอซิส ทั้งในซีเรียและอิรัก เป็นความพ่ายแพ้ในขณะที่ยังมีการสนับสนุนอย่างเต็มอัตราศึกทั้งจากตะวันตกและประเทศอาหรับในอ่าวเปอร์เซีย โดยมีกรรมการคือสหประชาชาติคอยแอบเข้าข้างและช่วยเหลืออยู่ห่างๆ พร้อมกับตัดคะแนนฝ่ายอิหร่านและพันธมิตรอยู่เนืองๆ

    และที่แน่นอนยิ่งกว่าแน่นอนก็คือ บะชัร อัลอัซซัด จะยังเป็นประธานาธิบดีซีเรียต่อไป พร้อมด้วยการสนับสนุนอย่างท่วมท้นของประชาชนซีเรีย อิทธิพลในภูมิภาคตะวันออกกลางของอิหร่านและพันธมิตรจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งซาอุดิอาระเบียและบรรดาเจ้านาย หมดความสามารถที่จะหยุดยั้ง

   นั่นคือทิวทัศน์แรกของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนทิวทัศน์ของสถานการณ์ที่สองคือ อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของสำนักคิดวะฮาบีในราชสำนักซาอุดิอาระเบียและความสุดโต่งของพวกเขา ซึ่งสวนทางกับวิถีชีวิตที่หย่อนยานจนกระทั่งบางครั้งถึงขั้นฟอนเฟะและแนวทางการเมืองการปกครองของชนชั้นปกครองซาอุดิอาระเบีย จะทำให้เกิดการเสียดทานอย่างรุนแรงระหว่างสองฝ่ายขึ้น จนกระทั่งในที่สุดผู้นำทางศาสนาของสำนักคิดวะฮาบีจะขัดแย้งกับราชสำนัก จนกลายเป็นการคุกคามต่อความมั่นคงของราชอาณาจักรเองในที่สุด

   ทีนี้ก็ลองจินตนาการกันเอาเองก็แล้วกันว่า ถ้าผู้นำสำนักคิดวะฮาบีจะจัดการกับผู้ปกครองประเทศจากตระกูลอาลิสะอู๊ด พวกเขาจะเอากองกำลังมาจากไหน ถ้าไม่ใช่อดีตสมาชิกไอซิสและนักรบหลากสายพันธุ์ที่เคยปฏิบัติการในซีเรีย

แค่คิดก็สยองแล้ว


บทความโดย : Fareed Denyingyoch

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม