อัลจาซีรารายงาน : โดรนของเยเมนเข้าโจมตีซาอุฯ โดยที่ระบบป้องกันของสหรัฐฯ ไม่อาจช่วยอะไรได้

      โดรนเจ็ดลำของกองทัพเยเมนบินลึกเข้าไปในระยะทาง 800 กิโลเมตรในน่านฟ้าของซาอุดิอาระเบียโดยไม่มีอุปสรรคกีดขวางนั้นเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจ เมื่อพิจารณาถึงอาวุธแลระบบป้องกันจำนวนมากมายมหาศาลที่ซื้อมาจากสหรัฐฯ โดยซาอุดิอาระเบีย

     สำนักข่าวฟาร์สรายงานว่า เมื่อวันอังคารที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดรนเจ็ดลำของกองทัพเยเมนสามารถบินลึกเข้าไปในน่านฟ้าของซาอุดิอาระเบียในระยะทางถึง 800 กม. และได้ทิ้งระเบิดทำลายท่อส่งน้ำมันยุทธศาสตร์จากทางตะวันออกไปทางตะวันตกของซาอุดิอาระเบีย โดยที่ระบบป้องกันของสหรัฐฯ ในซาอุดีอาระเบียไม่สามารถแสดงการตอบโต้ใดๆ ได้เลย

      เว็บไซต์ข่าวของโทรทัศน์อัลจาซีราได้เขียนในบทความว่า เป้าหมายต่างๆ ที่ถูกระเบิดทำลายนั้นมีความสำคัญอย่างมาก ซึ่งเป็นท่อส่งน้ำมันหลักของซาอุดิอาระเบียสำหรับการส่งน้ำมันจากบ่อน้ำมันจากทางตะวันออกของประเทศไปยังท่าเรือตะวันตกในชายฝั่งทะเลแดง ท่อส่งน้ำมันนี้ยังทำหน้าที่เป็นทางเลือกสำหรับการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซซึ่งอิหร่านขู่ว่าจะปิดกั้นหากจำเป็น

     อัลจาซีราชี้ให้เห็นว่า การบินของโดรนเจ็ดลำในระยะทางดังกล่าวโดยที่ไม่มีระบบป้องกันใดๆ ของซาอุดิอาระเบียสามารถจับมันได้นั้นได้ก่อให้เกิดคำถามต่างๆ เกี่ยวกับการจัดซื้ออาวุธจำนวนมากมายมหาศาลที่ริยาดได้ดำเนินการในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

     อัลจาซีราได้เขียนว่า : รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้ซื้อระบบป้องกันที่ทันสมัยจากสหรัฐอเมริกาและยังมีเครื่องบินรบต่างๆ ที่ราคาของเครื่องบินแต่ละลำมีราคาสูงเป็น 1,000 เท่าของโดรน และตามการประเมินของสถาบันวิจัยสตอกโฮล์ม ซึ่งทำหน้าที่ในด้านการตรวจสอบการใช้จ่ายทางทหารนั้น ซาอุดิอาระเบียเป็นผู้ซื้ออาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก และตามการประกาศของสำนักงานตรวจสอบของสหรัฐฯ ระบุว่า การส่งออกอาวุธของสหรัฐฯ ไปยังซาอุดิอาระเบียในระหว่างปี 2009 ถึงปี 2016 มีมูลค่าสูงถึง 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์

     อัลจาซีรายังได้ชี้ถึงสัญญาซื้อขายอาวุธของรัฐบาลสหรัฐฯ กับริยาด ระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ โดยเขียนว่า ในปี 2017 ในระหว่างการเดินทางไปซาอุดีอาระเบียของทรัมป์ได้มีการเซ็นสัญญาซื้อขายอาวุธมูลค่า 110,000 ล้านดอลลาร์ และหลังจากนั้นกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประกาศว่า ได้เริ่มขั้นตอนแรกของการขายอาวุธมูลค่า 14.5 พันล้านดอลลาร์

     ตามรายงานนี้ สหรัฐฯ เป็นผู้สนองตอบความต้องการอาวุธของซาอุดิอาระเบีย 61% และประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน รัสเซียและประเทศอื่นๆ อยู่ในอันดับรองลงมา

     ในส่วนถัดไปของรายงานระบุว่า ด้วยกับปริมาณการซื้อขายอาวุธจำนวนมากมายขนาดนี้ การบินอย่างไม่กลัวเกรงของโดรนจากเยเมนในน่านฟ้าของซาอุดิอาระเบียนั้นเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ ซึ่งประเด็นนี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความไร้ประสิทธิภาพของซาอุดิอาระเบียในการป้องกันตนเองจากกลุ่มติดอาวุธที่ซาอุดิอาระเบียทิ้งระเบิดใส่พวกเขาทุกวันและได้ทำการปิดล้อมพวกเขา

     อัลจาซีราได้ย้ำว่า : “ในขณะที่การทิ้งระเบิดเมื่อวันอังคารที่ผ่านมานั้นแสดงให้เห็นว่าซาอุดิอาระเบียไม่สามารถเข้าใจถึงอันตรายและการจัดการกับมันได้ นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องชี้ให้เห็นอีกว่า ตลอดช่วงสี่ปีของสงครามไม่เพียงแต่อำนาจการป้องกันของกลุ่มฮูซีไม่ได้ลดลง ยิ่งไปกว่านั้นอำนาจในการจู่โจมของพวกเขาก็ไม่ได้ลดลงอีกเช่นกัน"

     จากนั้นอัลจาซีราได้กล่าวถึงมิติทางด้านการเมืองของเหตุการณ์ โดยเขียนว่า ปฏิกิริยาทางการเมืองก็ไม่เป็นไปตามที่ริยาดต้องการ แม้แต่ทรัมป์เองซึ่งได้ขายอาวุธหลายร้อยล้านดอลลาร์ให้กับซาอุดีอาระเบียก็ไม่ได้มีการติดต่อหรือยกสายโทรศัพท์พูดคุยกับซาอุดิอาระเบียเพื่อประกาศการยืนหยัดเคียงข้างรัฐบาลซาอุฯ และการแสดงปฏิกิริยาของไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ทำให้ริยาดเกิดความพอใจ หลังจากการทิ้งระเบิดทำลายท่อส่งน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย ปอมเปโอกล่าวว่า สหรัฐฯ ไม่ต้องการทำสงครามกับอิหร่าน ซึ่งเป็นประเทศที่ถูกกล่าวหาว่าสนับสนุนกองกำลังของเยเมน"

การขอความช่วยเหลือ

     ตามรายงานของอัลจาซีรา สภากระทรวงต่างๆ ของซาอุดิอาระเบีย ในแถลงการณ์ที่ออกหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งได้เรียกร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยอ้างว่า การโจมตีของเยเมนเป็นภัยคุกคามต่อแหล่งพลังงานของโลกและสิ่งนี้เป็นหนึ่งในปัญหาระดับโลกในขณะที่การโจมตีได้เกิดขึ้นในดินแดนของซาอุดิอาระเบีย

     หลังจากนั้นรัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้นำประเด็นดังกล่าวรายงานไปยังคณะมนตรีความมั่นคงและเป็นที่ชัดเจนว่า คณะมนตรีความมั่นคงจะไม่ดำเนินการใดๆ ในเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของบรรดาประเทศสมาชิกของตน

    อัลจาซีราได้เขียนในตอนท้ายว่า หากซาอุดิอาระเบียไม่สามารถปกป้องตนเองได้ด้วยอาวุธต่างๆ ของตน และในขณะที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากพันธมิตรตะวันตกและสหรัฐฯ แล้ว ในกรณีเช่นนี้ก็ไม่สามารถที่จะโยนความรับผิดชอบทางด้านความมั่นคงของตนให้กับสภาความร่วมมืออ่าวเปอร์เซียได้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็ไม่สามารถจะช่วยเหลือใดๆ แก่ซาอุดิอาระเบียได้ เนื่องจากซาอุดิอาระเบียได้นำพาตัวเองเข้าสู่อันตรายและถูกคุกคามโดยกลุ่มฮูซี (อันซอรุลลอฮ์) อยู่บ่อยครั้ง อียิปต์เองก็ได้กล่าวซ้ำอยู่เสมอว่าจะไม่เข้าสู่ความขัดแย้งทางทหารนอกเขตแดนของตนและไม่พร้อมที่จะเข้าสู่สงครามกับอิหร่าน

(วิดีโอที่ถูกเผยแพร่เกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมายไปที่ท่อส่งน้ำมันจากตะวันออกไปตะวันตกของซาอุดิอาระเบีย)


ที่มา : สำนักข่าวฟาร์ส

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม