นิตยสารอเมริกัน : การเป็นศัตรูกับอิหร่านทำให้อเมริกาเสื่อมเร็วยิ่งขึ้น

     นิตยสาร "The National Interest" ได้ชี้ถึงการถูกโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้นของวอชิงตันหลังจากการประชุมต่อต้านอิหร่านในกรุงวอร์ซอ พร้อมกับกล่าวเสริมว่า : นโยบายของทำเนียบขาวที่มีต่อกรุงเตหะรานจะเป็นสาเหตุการเร่งความเสื่อมอำนาจของสหรัฐอเมริกา

     ศาสตราจารย์ "พอล อาร์. พิลลาร์" (Paul R. Pillar) นักวิเคราะห์และอดีตหัวหน้าสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ (CIA) ในการสัมภาษณ์นิตยสาร "The National Interest" ได้ชี้ถึงผลพวงของการประชุมต่อต้านอิหร่านในกรุงวอร์ซอและนโยบายของทำเนียบขาวที่มีต่ออิหร่าน สำหรับสถานะระหว่างประเทศของวอชิงตัน

     พิลลาร์เตือนว่า เจตนาของสหรัฐฯ ในการจัดการประชุมที่กรุงวอร์ซอ คือการโน้มน้าวยุโรปให้เข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาในการกดดันอิหร่าน และกล่าวเสริมว่า : "การประชุมครั้งนี้กลับกลายเป็นการแสดงรอยร้าวระหว่างวอชิงตันและยุโรปเกี่ยวกับท่าทีของทั้งสองฝ่ายที่มีต่อกรุงเตหะรานแทน"

     อดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอยังเน้นย้ำอีกว่า นโยบายการเป็นปรปักษ์ขั้นสูงสุดของอเมริกาที่มีต่ออิหร่านนั้น กำลังนำวอชิงตันไปสู่การถูกโดดเดี่ยว และมีคู่แข่งในระดับภูมิภาคของกรุงเตหะรานเพียงไม่กี่ประเทศ อย่างเช่น ระบอบไซออนิสต์ ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ยังคงเป็นพันธมิตรกับทำเนียบขาว

     พิลลาร์กล่าวว่า : ระบอบการปกครองเหล่านี้กำลังไล่ตามเป้าหมายต่างๆ ของตนโดยการแสดงให้เห็นว่าอิหร่านคือศัตรู เป็นเป้าหมายที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาและการแสวงหาสันติภาพและความมั่นคงในตะวันออกกลาง

    นักวิเคราะห์ของซีไอเอยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ยกเว้นบางส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันตกที่ระบอบการปกครองของอิสราเอล ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีส่วนต้องรับผิดชอบมากที่สุดในการปรากฏตัวของทหารข้ามชาติในภูมิภาคนี้

    พิลลาร์ยังได้ชี้ถึงการพบปะและการนั่งร่วมวงของบางรัฐบาลอาหรับในภูมิภาค (ตะวันออกกลาง) กับเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีของระบอบไซออนิสต์และถือว่ามันเป็นความสำเร็จสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐบาลไซออนิสต์

    นอกจากนี้เขายังได้ชี้ถึงถ้อยแถลงของไมก์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในการประชุมสุดยอดวอร์ซอที่เรียกร้องด้วยน้ำเสียงเหมือนผู้เป็นเจ้านายให้สหภาพยุโรปออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านและอธิบายถึงกลไกสนับสนุนการค้าระหว่างอิหร่าน - ยุโรป (INSTEX) ว่าเป็นการดำเนินการที่ขาดการยั้งคิด

    ตามข้อเขียนของพิลลาร์ สิ่งที่ไม่ถูกกล่าวถึงในคำพูดของไมก์ เพนซ์ ก็คือว่าสหรัฐอเมริกาเองต่างหาก – ไม่ใช่สหภาพยุโรปหรืออิหร่าน ที่ละเมิดอย่างชัดเจนต่อข้อตกลงนิวเคลียร์หรือข้อตกลงร่วมว่าด้วยแผนปฏิบัติการครอบคลุม (The Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA) และมติที่ 2231 ของคณะมนตรีความมั่นคงซึ่งได้รับการอนุมัติจากสมาชิกทั้งหมดของสภานี้

    ไมก์ เพนซ์ได้เรียกร้องให้บรรดารัฐบาลของยุโรปละเมิดภาระผูกพันของตนและดูถูกเหยียดหยามคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN) เช่นเดียวกับรัฐบาลทรัมป์

   นักวิเคราะห์ของซีไอเอยังชี้ถึงถ้อยแถลงที่ก้าวร้าวของรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีต่อกลไกการสนับสนุนทางการค้าของอิหร่านและยุโรป และกล่าวเสริมว่า : กลไกนี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความจริงอีกประการหนึ่งที่ว่า โลกกำลังเบื่อหน่ายกับการใช้ประโยชน์ในทางไม่ชอบของวอชิงตันจากความได้เปรียบทางด้านเศรษฐกิจของตน และโลกกำลังมองหาวิธีที่จะเอาชนะความได้เปรียบนี้หรือตัดมันทิ้ง

    พิลลาร์ได้เขียนในตอนท้ายของบทความของตนว่า : "ถ้ามหาอำนาจที่ถูกโดดเดี่ยว (อเมริกา) ยังคงทำสิ่งเดียวกันกับที่ทำกับอิหร่านต่อไป ก็จะเห็นว่าอำนาจต่างๆ ที่เหนือกว่าและเป็นข้อได้เปรียบของมันนั้นจะถูกทำลายลงเร็วมากยิ่งขึ้น และด้วยเหตุนี้เองในอนาคตวอชิงตันก็จะมีอำนาจน้อยลงสำหรับการบังคับความต้องการของตนเองในประเด็นต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเตหะราน


ที่มา : อัล-อาลัม

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม