foto1
foto1
foto1
foto1
foto1

In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم

Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم

ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You

WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center

ความสำคัญของน้ำนมแม่ ในมุมมองของอิสลาม

สิ่งที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งที่อิสลามเน้นย้ำและกำชับสั่งเสียอย่างมาก นั่นคือ นมแม่ ตัวอย่างเช่น ในคำรายงาน (ริวายะฮ์) บทหนึ่งจากท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ที่กล่าวว่า

 لَیسَ لِلصَّبِیِّ لَبَنٌ خَیرٌ مِن لَبَنِ اُمِّهِ

“สำหรับเด็กทารก ไม่มีน้ำนมใดที่จะดียิ่งไปกว่าน้ำนมของมารดาของเขา” (1)

       ในที่นี้มีคำถามเกิดขึ้นว่า ทำไมน้ำนมแม่จึงจำเป็นและมีสำคัญสำหรับเด็กทารกถึงเพียงนี้? และในทำนองเดียวกันนี้ จะมีอุปสรรคหรือไม่หากบุคคลใดต้องการจะเลี้ยงลูกของตนเองให้เจริญเติบโตขึ้นมาด้วยกับนมวัวหรือนมผงและอื่นๆ?

           จำเป็นที่เราจะต้องตระหนักว่า ทุกสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งได้ทรงบัญชาใช้ และอิสลามได้กำชับแนะนำไว้นั้น ล้วนมีวิทยปัญญาและหาใช่สิ่งที่ไร้เหตุผลไม่ เหตุผลประการหนึ่งที่มารดาจำเป็นจะต้องให้ลูกน้อยกินนมของตนเอง ก็เพื่อการเจริญเติบโตของทารกน้อย เนื่องจากน้ำนมของมารดาจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง และสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แก่ลูกมากกว่าน้ำนมใดๆ ทั้งสิ้น

         และเรื่องนี้จากการค้นคว้าวิจัยทั้งหมดของนักวิชาการของโลกก็ได้พิสูจน์แล้ว และท่านอิมามอะลี (อ.) ก็ได้กล่าวว่า

 ما مِن لَبَنٍ یَرضَعُ بهِ الصَّبِیُّ أعظَمُ بَرَكَةً عَلَیهِ مِن لَبَنِ اُمِّهِ

“ไม่มีน้ำนมใดที่เด็กทารกบริโภคมัน แล้วจะมีความจำเริญ (คุณค่า) ที่ยิ่งใหญ่ต่อเขามากไปกว่าน้ำนมมารดาของเขา” (2)

  คำว่า “ความจำเริญ” (บะรอกัต) ในที่นี้สามารถที่จะรวมถึงค่าใช้จ่ายต่ำ ความอุดมสมบูรณ์ และความพอเพียงของน้ำนมสำหรับทารก ความเป็นธรรมชาติและปลอดจากวัตถุสังเคราะห์และสารเคมีใดๆ การที่มารดาได้ให้นมของตนแก่ลูกน้อยนั้น ไม่เพียงแต่นางได้ให้อาหารทางร่างกายแก่ลูกของนางเพียงเท่านั้น ทว่านางยังได้ให้อาหารทางจิตวิญญาณแก่เขาอีกด้วย เมื่อมารดาได้แนบลูกน้อยของตนไว้ในอ้อมอกที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ด้วยความรักและความผูกพันเพื่อให้เขาได้ดื่มนม ด้วยกับการกระทำดังกล่าวนี้ ความเมตตาและความรักจากนางจะถูกถ่ายทอดไปสู่ลูกน้อยของนาง

        ในขณะที่ทารกดื่มนมจากเต้านม เขาได้ยินเสียงเต้นของหัวใจของมารดา จะทำให้เขาเกิดความสงบมั่นได้ในลักษณะหนึ่ง ด้วยเหตุนี้อิสลามจึงได้กำชับสั่งเสียเยาวชนว่าในการแต่งงานนั้น เขาควรจะต้องเลือกเฟ้นภรรยาที่เป็นคนฉลาดและมีจริยธรรมที่งดงาม เพื่อที่นางจะได้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูบุตรให้เป็นคนดี (ซอและห์) สำหรับเขา ดังเช่นที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวว่า

 اُنظُروا مَن یَرضَعُ أولادَكُم فَإنَّ الوَلَدَ یَشِبُّ عَلَیهِ

“พวกท่านจงพิจารณาบุคคล (มารดา) ที่จะให้นมแก่ลูกๆ ของพวกท่าน เพราะแท้จริงลูกนั้นจะเติบโตขึ้นมาบนการให้นมนั้น” (3)

         หมายถึง เขาจะรับเอาคุณลักษณะและอุปนิสัยใจคอมาจากมารดาของเขา และท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวว่า

توقّوا على أولادكم لبن البغيّة والمجنونة ، فانّ اللّبن يعدي

 “ท่านทั้งหลายจงหลีกเลี่ยงลูกๆ ของพวกท่านจากน้ำนมของหญิงชั่ว (หญิงแพศยาและโสเภณี) เพราะแท้จริงน้ำนมนั้นจะถ่ายทอด (ลักษณะ)” (4)

         และท่านยังได้กล่าวอีกว่า

إيّاكم أن تسترضعوا الحمقاء ، فإنّ اللّبن ينشئه عليه

 “ท่านทั้งหลายจงหลีกเลี่ยงการให้คนโง่เขลาให้นม (แก่ลูกของตน) เพราะแท้จริงน้ำนมนั้นจะทำให้เขาเจริญเติบโตขึ้นบนคุณลักษณะดังกล่าว” (5)

         อย่างไรก็ตาม เมื่อมารดาจะให้นมแก่ลูกของนาง หากนางกระทำในสภาพที่มีวุฎูอ์ (น้ำนมาซ) แน่นอนยิ่งว่า มันจะมีผลอย่างสูงในการเสริมสร้างบุคลิกภาพของลูกของนาง น้ำนมของแม่คือของขวัญ (เนี๊ยะอ์มัต) ประการหนึ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงมอบให้เป็นพิเศษสำหรับทารก พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรง ผู้ซึ่งได้สร้างเนี๊ยะอ์มัตที่เปี่ยมไปด้วยคุณประโยชน์มากมาย และเป็นโภชนาการที่มีคุณค่ามากที่สุดสำหรับทารก

         เนื่องจากพระองค์คือผู้ทรงสร้างมนุษย์ และพระองค์ทรงรอบรู้มากกว่าใคร ว่าอะไรคือความจำเป็นของมนุษย์ น้ำนมของมารดาเป็นสิ่งจำเป็นต่อลูกน้อยมาก ถึงขั้นที่พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสงส่ง ได้ทรงกำชับสั่งเสียไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า มารดาทั้งหลายจำเป็นที่จะต้องให้นมแก่ลูกๆ ของตนเป็นเวลาสองปีเต็ม และพระองค์ยังทรงตรัสถึงเหตุผลของสิ่งดังกล่าวนี้ไว้ในส่วนถัดไปของโองการอัลกุรอานว่า ช่วงเวลาของการกินนมของทารกน้อยนั้นคือระยะเวลาสองปีเต็ม

وَالْوَالِدَاتُ يُرْضِعْنَ أَوْلَادَهُنَّ حَوْلَيْنِ كَامِلَيْنِ لِمَنْ أَرَادَ أَن يُتِمَّ الرَّضَاعَةَ

 “และมารดาทั้งหลายนั้น จะให้นมแก่ลูกๆ ของนางภายในสองปีเต็ม สำหรับผู้ที่ต้องการจะให้ครบถ้วนในการให้นม” (6)

          สิ่งนี้หมายความว่า ทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์ของมนุษย์คนหนึ่งนั้น อยู่ในการได้ดื่มนมจากน้ำนมของมารดาเป็นเวลาสองปีเต็ม และหากปรารถนาที่จะให้บุคลิกภาพของทารกก่อรูปขึ้นอย่างถูกต้องเหมาะสมและสมบูรณ์ (ไม่ว่าจะในด้านร่างกายหรือจิตวิญญาณของเขา) แล้ว จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการให้นมของมารดา

          ประเด็นสุดท้ายก็คือ น้ำนมของมารดานั้นเป็นสิทธิของเด็กทุกคน และหากผู้เป็นมารดาได้ให้นมอื่นแก่ลูกน้อยของตนแทนน้ำนมของตนเองโดยปราศจากเหตุผลแล้ว ก็เท่ากับว่านางได้บกพร่องต่อหน้าที่ของตนเอง และได้อธรรมอย่างร้ายแรงต่อลูกของตนเอง


แหล่งอ้างอิง :

(1) มุสตัดร็อก อัลวะซาอิล, เล่มที่ 15, หน้าที่ 156

(2) อัลกาฟี, เล่มที่ 6, หน้าที่ 40

(3) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 21, หน้าที่ 467

(4) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 104, หน้าที่ 96, ฮะดีษที่ 48

(5) วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 624

(6) อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 233


บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีมประดับญาติ

ศูนย์สารสนเทศอิสลาม สถาบันส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม