อิมามศอดิก (อ.) : ไม่ถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่ตายตัวแต่อย่างใด มิใช่ว่าผู้ที่เริ่มเข้าสู่วัยชราจะต้องมีความจำเสื่อมหรือความเฉลียวฉลาดจะลดน้อยถอยลงเสมอไปทุกคน ผู้ที่ประสบกับสภาพความจำเสื่อมนับตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่มวัยสาวก็มีเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากความกระปรี้กระเปร่าและความร่าเริงสดใสในวัยหนุ่มสาว จึงบดบังสภาพความจำเสื่อมนั้นมิให้ปรากฏชัดเจนออกมา
คำสนทนาระหว่างท่านอิมามญะอ์ฟัร ซอดิก (อ.) กับลูกศิษย์ของท่าน : วิทยปัญญาและเหตุผลที่ความจำของมนุษย์จึงลดลงเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยชรา ?
ญาบิรฺ : เหตุใดความจำและความเฉลียวฉลาดของมนุษย์จึงลดน้อยถอยลงเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยชรา ?
อิมามศอดิก (อ.) : ไม่ถือว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่ตายตัวแต่อย่างใด มิใช่ว่าผู้ที่เริ่มเข้าสู่วัยชราจะต้องมีความจำเสื่อมหรือความเฉลียวฉลาดจะลดน้อยถอยลงเสมอไปทุกคน ผู้ที่ประสบกับสภาพความจำเสื่อมนับตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่มวัยสาวก็มีเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากความกระปรี้กระเปร่าและความร่าเริงสดใสในวัยหนุ่มสาว จึงบดบังสภาพความจำเสื่อมนั้นมิให้ปรากฏชัดเจนออกมา แต่เมื่อวัยนี้ได้ผ่านพ้นไปย่างเข้าสู่วัยชรา สภาพความจำเสื่อมนั้นจะค่อย ๆ สำแดงออกมาชัดเจนขึ้น
สำหรับกรณีของผู้ที่มีความเฉลียวฉลาดและสำรวมตนจากความชั่วนับตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่มวัยสาวนั้น เมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา ความเฉลียวฉลาดและสภาพดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไป เพียงแต่กำลังวังชาและพลานามัยจะลดน้อยถอยลงไป ไม่เหมือนกับขณะที่อยู่ในวัยหนุ่มวัยสาวเท่านั้น
ในหมู่ปัญญาชนนั้น เมื่อเข้าสู่วัยชรา ความคิดความอ่าน ความรู้ และความฉลาดหลักแหลมจะยิ่งเพิ่มพูนมากกว่าในขณะที่อยู่ในวัยหนุ่มวัยสาว ทั้งนี้เนื่องจากยิ่งอายุเพิ่มขึ้นมากเท่าใด ขุมคลังที่เก็บรวบรวมความรู้ของพวกเขาจะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย และความคิดความอ่านของพวกเขาจะยิ่งมีพลังมากยิ่งขึ้นด้วย นอกจากนี้พวกเขาจะตัดสินใจในปัญหาต่าง ๆ ด้วยความสุขุมคัมภีรภาพปราศจากอารมณ์และความรู้สึกส่วนตัวมากขึ้น และมีความสำนึกที่จะคล้อยตามสัจธรรมความจริงมากยิ่งขึ้นด้วย
ญาบิรฺ : ฉันได้ยินมาว่าความแก่ชราจะนำมาซึ่งความหลงลืม นี่ถือเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวหรือไม่ ?
อิมามศอดิก (อ.) : หาได้เป็นเช่นนั้นไม่
ความหลงลืมเกิดจากพลังสมองที่มิได้ถูกนำไปใช้งานอย่างสม่ำเสมอต่างหากเล่า พลังสมองก็เปรียบเสมือนพลังต่าง ๆ ในตัวมนุษย์นั่นเอง ถ้าปรารถนาที่จะให้มันยังคงดำรงอยู่ต่อไป จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหมั่นใช้งานอย่างสม่ำเสมอ
ถึงแม้ว่าจะอยู่ในวัยหนุ่มวัยสาวก็ตาม ถ้าไม่พยายามลับสมองอย่างสม่ำเสมอ ความหลงลืมย่อมจะมาเยือนพวกเขาด้วยเช่นกัน
ความหลงลืมที่ปรากฏในผู้สูงวัยบางคน เกิดจากสุขภาพพลานามัยที่อ่อนแอจนทำให้ความสนใจใคร่รู้ในสภาพแวดล้อมในการดำเนินชีวิตของพวกเขาลดน้อยถอยลงไปด้วย แม้กระทั่งความสนใจที่มีต่อลูกหลานก็ลดน้อยถอยลงไปด้วย ยิ่งสุขภาพพลานามัยอ่อนแอมากเท่าไร ความสนใจต่อสภาพแวดล้อมในการดำเนินชีวิตก็จะยิ่งลดน้อยถอยลงมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ไม่มีความได้ใคร่อยากที่จะออกนอกบ้านหรือไม่อยากจะเดินทางไปไหนมาไหนไปด้วย ไม่สนใจหรือต้องการรับรู้แม้กระทั่งความเป็นไปและเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน
ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้สมองและความจำของพวกเขาไม่พัฒนา และสภาวะชะงักงันเช่นนี้เองที่ทำให้ ประการแรก คือ ไม่มีสิ่งใหม่ ๆ เพิ่มพูนหรือบรรจุเข้ามาในคลังสมองของพวกเขา ประการที่สอง คลังสมองที่เคยบรรจุความจำอยู่ก่อนหน้านั้นทั้งหมดหรือบางส่วนจะค่อย ๆ ลบเลือนหายไปในที่สุด
ดังนั้นเมื่อประชาชนได้พบเห็นผู้สูงวัยที่ความจำเลอะเลือนเพียงแค่สองสามคน ก็ทำให้พวกเขาสรุปว่าเป็นกฎเกณฑ์ทั่วไป และพากันกล่าวว่าเมื่อมนุษย์ย่างเข้าสู่วัยชรา สมองที่เลอะเลือนก็จะเข้ามาเยือนเขาด้วย แต่สำหรับผู้สูงวัยที่ไม่ยอมปล่อยให้กำลังวังชาและพลานามัยมามีอิทธิพลต่อพลังทางสมองและความจำของพวกเขาแล้ว ในช่วงที่เข้าสู่วัยชรา พลังสมองและความจำของพวกเขาจะยิ่งเพิ่มพูนยิ่งกว่าช่วงที่อยู่ในวัยหนุ่มวัยสาวด้วยซ้ำไป ทั้งนี้เนื่องจากพวกเขาหมั่นลับสมองและความจำตลอดช่วงอายุขัยอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง และเมื่อเข้าสู่บั้นปลายชีวิต ความจดจำต่าง ๆ ก็จะยิ่งเพิ่มพูนถึงจุดสูงสุดด้วย
แหล่งอ้างอิง :
(1) ซินเดกีนอเมะฮ์ 14 มะอฺซูม, อายะตุลลอฮ์ ซัยยิด มุฮัมมัดตะกีย์ มุดัรริซ, หน้า 602
(2) อุซุลกาฟี, ฉบับแปลมุฮัมมัด บากิร, เล่มที่ 1, หน้า 211-217
(3) อิฮ์ติยาจญ์ เฏาะบัรซีย์, เล่มที่ 2, หน้า 75
บทความ : เชค ดร.มุฮัมมัดชะรีฟ เกตุสมบูรณ์
In the name of Allah I بِسْــــــــــــــــــمِ اﷲِالرَّحْمَنِ اارَّحِيم
Assalamualaikum I اَلسَّلَامُ عَلَيْكُم
ขอความสันติ จงมีแด่ท่าน I Peace Be Upon You
WELCOME TO IICTH.COM I ยินดีต้อนรับ สู่เว็บไซต์
ศูนย์สารสนเทศอิสลาม I Islamic Information Center